นิ้วล็อค (Trigger Finger)

นิ้วล็อค (Trigger Finger) หมายถึง การที่ข้อนิ้วมีอาการปวด หรือนิ้วล็อค อยู่ในท่างอเหยียดนิ้วออกเองไม่ได้ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวข้อนิ้ว เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปที่ต้องใช้มือจับสิ่งของ หรืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องบ่อยๆ โรคนี้ไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่ให้ความรู้สึกเจ็บปวด และใช้มือได้ไม่ถนัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้

 
อาการของโรคนี้แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ  
1. ระยะแรก มีอาการปวดเป็นอาการหลัก โดยจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ และจะมีอาการปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด 
2. ระยะที่สอง มีอาการสะดุด (triggering) เป็นอาการหลัก และอาการปวดก็มักจะเพิ่มมากขึ้นด้วย เวลาขยับนิ้ว งอ และเหยียดนิ้ว จะมีการสะดุดจนรู้สึกได้ 
3. ระยะที่สาม มีอาการติดล็อคเป็นอาการหลัก โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียด หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง 
4. ระยะที่สี่ มีการอักเสบบวมมาก จนนิ้วติดอยู่ในท่างอ ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถึงแม้ว่าจะให้มืออีกข้างนึงมาช่วยเหยียดก็ตาม
 
การรักษานิ้วล็อคแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ 

วิธีที่ 1 การรักษาโดยการฉีดยา 

     การรักษานิ้วล็อค ในผู้ป่วยที่เป็นตั้งแต่ระดับที่ 1 – 3 จะแนะนำให้ฉีดยา สเตียรอยด์เฉพาะที่บริเวณโคนนิ้วมือ จะได้ผลดี และหายกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป ในรายงานบางแห่งได้ผลดีและหายถึงกว่าร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 30 – 40 อาการล็อคจะกลับมาเป็นอีกได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และการใช้งานนิ้วมือ ในกลุ่มที่กลับมาเป็นใหม่นี้ จะให้มีการฉีดยาสเตียรอยด์ซ้ำได้ 2 – 3 ครั้ง แต่โอกาสที่จะดีขึ้น และหายจะมีน้อยลง แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษาจะดีกว่า เพราะการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ซ้ำ ๆ หลายครั้งจะไม่ทำให้อาการดีขึ้น และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเอ็นขาดได้
 
วิธีที่ 2 การรักษาโดยการผ่าตัด จะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี
  • การผ่าตัดแบบเปิด  เป็นวิธีมาตรฐาน โดยฉีดยาชาเฉพาะที่มีแผลผ่าตัด เพื่อกรีดผ่าปลอกหุ้มเอ็น เสร็จแล้วกลับบ้านได้ แต่หลังผ่าตัดต้องหลีกเลียงการใช้งานหนักและการสัมผัสแผล ประมาณ 2 สัปดาห์
  • การผ่าตัดแบบปิด โดยการใช้เข็มเขี่ยหรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออกผ่านผิวหนังแทบไม่มีแผลให้เห็น แต่อาจมีอันตรายต่อเส้นเอ็นและเส้นประสาทที่อยู่บริเวณข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดแผลเวลาขยับนิ้วมือ ข้อนิ้วติดแข็ง มีอาการชาปลายนิ้ว
การใช้เครื่องมือพิเศษ (A-knife)
นวัตกรรมใหม่โดยการรักษาโดยการเจาะผ่านผิวหนัง  (Percutaneous Trigger Finger release with A-knife)
     A-knife หรือมีดผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผิวหนัง เป็นนวัตกรรมใหม่ของเครื่องมือช่วยการผ่าตัดโรคนิ้วล็อค  เป็นมีดที่มีลักษณะปลายเล็กขนาดปลายประมาณ 2 มิลลิเมตร ลักษณะพิเศษของมีด คือปลายจะมนทำให้ไม่เกิดการบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนต่ออวัยวะส่วนอื่น ที่จากเดิมการผ่าตัดแบบเปิดต้องผ่ากรีดผิวหนังประมาณ 1.5 เซนติเมตร และใช้มีดตัดปลอกหุ้มเอ็นซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนิ้วล็อค
 
ข้อดีของของการผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผ่านผิวหนัง  (Percutaneous Trigger Finger Knife)
  • แผลเจาะขนาดเล็ก (ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร)
  • ไม่ต้องเย็บแผล
  • ไม่ต้องตัดไหม
  • ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นโดยรอบ
  • มือที่ผ่าตัดสามารถใช้งานได้ทันที
  • ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
  • ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
  • ลดอาการปวดจากแผลผ่าตัด
  • ลดเวลาการกินยาแก้ปวดและยาฆ่าเชื้อ
 
โดย :      นายแพทย์อธิราช เมืองแสน    ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางมือ และจุลศัลยกรรม โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่
บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า